ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2561
ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับแห่งหนี้ ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 5 บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปต่อเมื่อได้มีการชำระหนี้ มีการปลดหนี้ มีการหักกลบลบหนี้ มีการแปลงหนี้ใหม่หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วนจาก บ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้ บ. เท่านั้น เมื่อการชำระหนี้นั้นยังไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ปรากฏเหตุอื่นที่อาจทำให้หนี้ดังกล่าวทั้งหมดระงับสิ้นไป แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระอีก การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจาก บ. เป็นเพียงโจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 685 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปกับ บ. ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับ บ. เมื่อได้ความว่า ทั้งจำเลยที่ 2 และ บ. ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่มิได้ค้ำประกันร่วมกัน แต่ต้องรับผิดร่วมกันดังกล่าวไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229, 293 และ 296 แม้โจทก์จะยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้ บ. คงเป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงเท่าส่วนของ บ. ชำระให้โจทก์และที่ปลดไป ซึ่งทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ปลดไปได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือไม่ เมื่อได้ความว่า บ. ชำระหนี้ให้โจทก์ไปเพียง 4,050,000 บาท ยังไม่ครบตามภาระหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างชำระในต้นเงิน ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13337/2556
การที่จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินของตนเพื่อประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่ธนาคาร ก. เจ้าหนี้ เป็นการให้สัญญาต่อเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ก็ให้ธนาคารเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 บังคับจำนองเอากับที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้ ต่างกับการค้ำประกันซึ่งโจทก์ผู้ค้ำประกันสัญญาว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้โจทก์จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ ในกรณีของจำเลยที่ 2 ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ในลักษณะจำนองซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 682 วรรคสอง ในลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับกับจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน อีกทั้งไม่ใช่กรณีผู้ค้ำประกันหลายคนยอมตนเข้าค้ำประกันหนี้รายเดียวกันอันจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง อันจะทำให้โจทก์รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บังคับจำนองกับที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22201/2555
จำเลยทั้งสองต่างแสดงเจตนาเข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของ ณ. อันถือเป็นการค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง แต่ไม่เกินจำนวนที่จำเลยทั้งสองค้ำประกันไว้ การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 60,000 บาท แล้วปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว มิได้ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ด้วย การปลดหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมเพียงเท่าส่วนที่โจทก์ปลดหนี้ให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 แต่หาทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ เพราะหนี้รายนี้ยังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ส่วนที่เหลืออีก 40,000 บาท ซึ่งไม่เกินส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ยังเหลืออยู่
หนังสือสัญญาค้ำประกันระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าวจากโจทก์ ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เบี้ยปรับที่โจทก์เรียกเท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้นสูงเกินไป สมควรกำหนดให้เท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2111/2551
เจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่ 2 ส. และ ว. ได้ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 กับโจทก์ จึงต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 และมาตรา 682 วรรคสอง ถ้าเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นตามมาตรา 693 วรรคหนึ่ง และรับช่วงสิทธิของโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันได้ตามส่วนเท่าๆ กันตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 อีกด้วย เมื่อลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่ลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ในภายหน้าได้ทั้งจำนวนหรือตามส่วนแล้วแต่กรณี เว้นแต่โจทก์ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนอันมีต่อลูกหนี้ที่ 1 หรือที่ 2 แล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 101 เมื่อบริษัท พ. ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ชั้นต้นอันมีต่อลูกหนี้ที่ 1 และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันอันมีต่อลูกหนี้ที่ 2 ไว้เต็มจำนวนแล้ว เจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าต่อลูกหนี้ที่ 2 ได้
เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 โดยยอมรับผิดต่อบริษัท ท. อย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตรา 229 และมาตรา 296 การที่บริษัท ท. ยอมรับการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน 500,000 บาท และปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ปลดไปเท่านั้น ส่วนลูกหนื้ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท ท. อีกต่อไป เพราะหนี้ส่วนที่เหลือสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ระงับไปแล้วตามมาตรา 340 ดังนั้นหากต่อมาเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ไปเพียงใดก็ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ได้อีกต่อไป เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2551
จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ จำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกอีก 6 คน เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินต่างกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 4,880,000 บาท ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 และเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้ไล่เบี้ยผู้ค้ำประกันอื่นได้ตามสัดส่วนที่ผู้ค้ำประกันแต่ละคนเข้าผูกพันชำระหนี้ตามมาตรา 693 ประกอบมาตรา 229 (3), 296 การที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 3,020,952.37 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย โดยมิได้ระบุสัดส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย และโจทก์ได้นำยอดหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายนั้น ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงของคำพิพากษาดังกล่าวแล้วโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ แม้คำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 3 เพิ่งยกขึ้นอ้างส่งในชั้นอุทธรณ์ แต่การพิจารณาคดีล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 14 กำหนดให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตามสัดส่วนที่ทำสัญญาค้ำประกันไว้ในวงเงินเพียง 500,000 บาท และมียอดหนี้คำนวณถึงวันฟ้องคดีนี้ไม่ถึง 1,000,000 บาท ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2549
โจทก์กับจำเลยที่ 2 และ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุน อ. แม้วงเงินค้ำประกันจะไม่เท่ากัน โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อบรรษัทเงินทุน อ. อย่างลูกหนี้ร่วมกับ ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุน อ. แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว4,838,567.40 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัทเงินทุน อ. ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน ตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์คนละ 1,612,855.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุน อ. จนกว่าจะชำระเสร็จ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น